สารนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

สารจากนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย “ผนึกสัมพันธ์ สานใจต่อใจ”

เรียน สมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ดิฉันได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยมีวาระการปฏิบัติงาน 2 ปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ถึง มกราคม 2568 การได้รับมอบหมายให้บริหารการทำงานของสมาคมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการให้เกิดความมั่นคงและเพื่อเกียรติภูมิของอาชีพนักเขียนโดยรวม

ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ คือ ได้กำหนดให้มีโครงการ “ผนึกสัมพันธ์ สานใจต่อใจ” เป็นตัวตั้ง โดยมีกิจกรรมเป็นตัวผลักดัน ด้วยความหวังว่าสมาคมของเราจะสามารถประสานนักเขียนทุกวัยให้เป็นปึกแผ่น  เป็นสมาคมของนักเขียนทุกคน และก้าวไปสู่ความเป็นสากลอย่างแท้จริง การดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนฯ  คณะกรรมการบริหารสมาคมได้กำหนดนโยบายในการบริหารเป็น 4 ส่วน ทั้งหมดมีคำขวัญสั้น ๆ ว่า 

1. สรรค์สร้างองค์ความรู้ 

2.  เชิดชูวรรณกรรมเด่น 

3.  ฟังความเห็นทุกฝ่าย 

4. เชื่อมสายใยกับสากล

หนึ่ง-กิจกรรมต่อเนื่องจากที่นายกสมาคมคนก่อนๆดำเนินการไว้ อาทิ โรงเรียนนักเขียน   

สอง-กิจกรรมใหม่ ๆที่คณะกรรมการบริหารสมาคมร่วมกันคิดขึ้นมา ดังนี้  

-กิจกรรม  “Meet The Writers : พบนักเขียน” 5 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างพลังความคิดใหม่ๆ เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และทันสมัยบนฐานเก่าอันมั่นคง เป็นการจัดงานเสวนา 5 ภาค คือภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคใต้ เนื้อหาในการเสวนาจะเป็นการกล่าวถึงเส้นทางการเขียน สภาพอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ลักษณะสำคัญวรรณกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค  ข้อคิดเห็นต่อวรรณกรรมไทย ในรอบกึ่งศตวรรษ

-กิจกรรมอ่านบทกวี “Poems For Love”  เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกสองเดือนที่สมาคมนักเขียนฯ หรือที่อื่นๆ ตามความเหมาะสม เป็นที่ซึ่งนักเขียนทุกรุ่นจะได้พบปะ สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เป็นการจัดอ่านบทกวี จากกวีหลากหลายรุ่น  โดยจะมีกวีรับเชิญ เป็นกวีอาวุโส กวีรุ่นใหม่ แต่ละครั้งจัดทำสูจิบัตร มีประวัติกวี และบทกวีของแต่ละคน 

-กิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวิชาหนังสือ

– การจัดทำและพิมพ์หนังสือรวมบทกวี จากกิจกรรม “Poems For Love” ดื่มด่ำคำกวี โดยจัดพิมพ์เป็น 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ

-การจัดทำและพิมพ์หนังสือรวบรวมข้อสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมภูมิภาค และข้อคิดเห็นต่อวรรณกรรมไทยจากงานเสวนา Meet The Writers พบนักเขียน 5 ภาค โดยจัดพิมพ์ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ

-การจัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้ด้านวิชาการวรรณกรรมร่วมสมัย ในรูปหนังสือรวมบทความวิชาการ  ภายใต้แนวคิด กึ่งศตวรรษพัฒนาการวรรณกรรมไทย (บทกวี เรื่องสั้น และนิยาย) โดยจัดพิมพ์ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ

ซึ่ง หนังสือทั้ง 3 เล่มดังกล่าว กำหนดเปิดตัวหนังสือในงานมหกรรมหนังสือ เดือนตุลาคม ปี 2567 พร้อมการการจัดจำหน่าย ทั้งในประเทศไทย และสำนักพิมพ์ต่างประเทศทั้งอาเซียน ยุโรป และอเมริกา

และในส่วนที่สามคือ กิจกรรมประจำที่สืบทอดจากนายกสมาคมคนก่อนๆ อาทิ การจัดงานวันนักเขียน การเข้าร่วมทำกิจกรรมด้านวรรณกรรมกับองค์กรเอกชนต่างๆ ได้แก่ การจัดประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ร่วมกับสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  การจัดค่ายกล้าวรรณกรรมเยาวชนกับบริษัทซีพีออลล์  การอบรมการเขียนนวนิยาย-เรื่องสั้น-กวี-สารคดี รางวัลเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ รางวัล Young Thai Artist Award  การออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นต้น

ด้วยตระหนักว่าสมาคมเป็นของสมาชิกทุกท่าน จึงขอให้ข้อมูลงานบางส่วนแก่สมาชิกทุกท่านได้รับทราบ ดังต่อไปนี้

กึ่งศตวรรษสมาคมนักเขียนฯ 

ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ คือ ผนึกสัมพันธ์ สานใจต่อใจ ประสานนักเขียนทุกวัยให้เป็นปึกแผ่น และยังคงการต่อยอดงานเดิม พร้อมกับเพิ่มเติมบทบาทของนักเขียนภูมิภาคให้เด่นชัดขึ้น  โดยการรวบรวมบทวิเคราะห์องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในรอบกึ่งศตวรรษ  เช่น

  • สานต่อกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน 5 ภูมิภาค  โดยเน้นการกระตุ้นการอ่าน 
  • การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์พินิจบทบาทงานเขียนในระดับภูมิภาค
  • งานด้านวิชาการ รวบรวมบทวิเคราะห์วรรณกรรมจากกิจกรรมภูมิภาค
  • กิจกรรมสังสรรค์และหาทุนเพื่อสวัสดิการนักเขียน

การส่งเสริมการอ่าน การเขียน

สมาคมนักเขียนฯได้เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการอ่านการเขียนมากมาย เช่น รางวัลวรรณกรรมพานแว่นฟ้า  ค่ายกล้าวรรณกรรม ฯลฯ  รวมไปถึงจัดกิจกรรมอบรมให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งในปีนี้ได้จัดตั้งฝ่ายกิจกรรมอบรมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ  เพื่อให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

วรรณกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

ภารกิจการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเขียนในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ที่สมาคมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ไทย-กัมพูชา  ไทย-จีน ไทย-มาเลเซีย ไทย-ลาว ไทย-เวียดนาม และล่าสุดคือความร่วมมือแลกเปลี่ยนนักเขียนระหว่างประเทศ คือ ไทย-จีน-เนปาล

ในการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใด เราได้ประจักษ์ถึง “ความเป็นไป” และ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่น่าสนใจ กล่าวคือ  นักเขียน นักอ่านทุกวันนี้ยืนอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงทั้งของประเทศและของโลก อันเป็นกระแสจากภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ  เรื่องของการตลาดในแวดวงวรรณกรรม  เรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนเรื่องของความเจริญก้าวหน้าและความบ่าไหลของวรรณกรรมชาติต่างๆ วรรณกรรมที่อยู่ในกระแสนิยมของนักอ่านรุ่นใหม่

งานเขียนจึงมีบทบาทหน้าที่ในฐานะสื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งจะถ่ายทอดชีวิตและความเป็นไปในสังคมไปสู่คนอ่าน  โดยมีนักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์งานเขียน และนักอ่านเป็นผู้เสพงานของนักเขียนอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสมาคมเป็นของนักเขียนหรือสมาชิกทุกท่าน ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ การมีส่วนร่วม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมต่างๆเดินหน้าไปด้วยดี สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงกำหนดให้มีโครงการ “ผนึกสัมพันธ์ สานใจต่อใจ” กับนักเขียนทุกรุ่น เพื่อนำข้อคิดจากท่านทั้งหลายไปใช้ขับเคลื่อนส่งเสริมวงวรรณกรรมไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้นต่อไป เป็นการเสริมสร้างพลังความคิดใหม่ ๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในวันนี้และอนาคต

       ขอแสดงความนับถือ

นรีภพ จิระโพธิรัตน์

นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย