กฎระเบียบเเละข้อบังคับ

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ข้อบังคับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย


หมวดที่ 1 บททั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” นขท. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “WRITERS ASSOCIATION OF THAILAND” ใช้อักษรย่อว่า W.A.T.
ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคม ปากไก่สีฟ้าเข้มประทับบนเปลวเทียนสีทองและตัวหนังสือ “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย”
ข้อ 3. สำนักงานสมาคม 31 ถนนกรุงเทพ-นนท์ 33 บางซื่อ กท.10800 โทรศัพท์ 02-9109565

หมวด 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 4. สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์
ก. เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในด้านการเขียนให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าในวรรณศิลป์
ข. เพื่อเชิดชูยกย่องวรรณกรรมที่มีคุณค่าของนักเขียน และเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์
ค. เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพและความมั่นคงของนักเขียน
ง. เพื่อเป็นที่ชุมนุมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างนักเขียนไทย และนักเขียนนานาชาติ
จ. เพื่อเชิดชูและร่วมมือกันในการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านวรรณกรรมของมนุษยชาติ โดยปราศจากความขึ้งเคียดทางสัญชาติหรือทางการเมือง

หมวด 3 สมาชิกภาพ

ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ก. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ข. สมาชิกสามัญ ค. สมาชิกวิสามัญ
ข้อ 6. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งมีความสนใจในกิจการของสมาคม และกรรมการบริหารของสมาคมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเป็นสมาชิก
ข้อ 7. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
ก. เป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร ภาพยนตร์ บทร้อยกรอง บทความสารคดี อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีผลงานปรากฏแก่ประชาชนตามสมควรเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ก่อนวันสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารของสมาคม
ข. เป็นบุคคลที่กรรมการบริหารของสมาคมพิจารณาแล้ว ยอมรับว่ามีงานเป็นวรรณศิลป์
ข้อ 8. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. เป็นผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 7 แต่ยังไม่ครบกำหนดเวลา 3 ปี
ข. เป็นบรรณาธิการหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์
ข้อ 9. บุคคลใดประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญหรือวิสามัญให้ยื่นใบสมัครตามแบบพิมพ์ของสมาคมต่อเลขาธิการสมาคม ซึ่งจะประกาศการสมัครไว้ ณ ที่ทำการของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าไม่มีผู้คัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร ให้เลขาธิการนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหาร เมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้นั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับส่งข้อบังคับสมาคมไปให้ด้วย เมื่อผู้สมัครได้ทราบและได้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงแล้วจึงถือว่าสมาชิกภาพเริ่มต้น
ข้อ 10 ส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์นั้นให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมส่งหนังสือเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อผู้รับเชิญตอบรับแล้ว จึงจะถือว่าเป็นสมาชิก
ข้อ 11. ค่าสมัครและค่าบำรุงสมาชิกใหม่ทุกประเภท ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นสมาชิกคนละ 20 บาท และเสียงค่าบำรุงสมาชิกดังนี้
ก. สมาชิกสามัญตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 2,000 บาท
ข. สมาชิกสามัญ ชำระค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 200 บาท
ค. สมาชิกวิสามัญ ชำระค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 100 บาท
ง. สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงรายปี
ข้อ 12. สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดดังนี้
ก. ตาย ข. ลาออก
ค. ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนเพราะมีความประพฤติในทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ง. ไม่ชำระค่าบำรุงหรือหนี้สินที่มีต่อสมาคม ทั้งนี้โดยได้รับหนังสือเตือนจากเลขาธิการสมาคมแล้ว 3 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 15 วัน นอกจากคณะกรรมการบริหารของสมาคมจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

หมวด 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 13. สมาชิกมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ปรึกษาหารือ ขอความช่วยเหลือต่อคณะกรรมการบริหารของสมาคมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสมาคม
ข้อ 14. สมาชิกย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้จากการดำเนินงานของสมาคมเพื่อให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว
ข้อ 15. สมาชิกมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของสมาคม ช่วยเหลือกิจการ และบำเพ็ญตนตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
ข้อ 16. สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์และสมาชิกวิสามัญมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
ข้อ 17. เป็นหน้าที่ของสมาชิกที่จะนำส่งค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงใด ๆ แก่เจ้าหน้าที่ของสมาคมเมื่อถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระ
ข้อ 18. สมาชิกจำนวนตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป มิสิทธิเรียกร้องให้เปิดประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาถึงปัญหารีบด่วนอันอาจเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับสมาคมและการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคม สิทธิดังกล่าวจะกระทำเพื่อให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมก็ได้

หมวด 5 การบริหารของสมาคม

ข้อ 19. ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมเป็นผู้บริหารงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คณะกรรมการบริหารของสมาคมมีจำนวน 25 คน ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ 17 คน และให้กรรมการบริหารที่ได้รับเลือก 17 คนนี้ ประชุมเลือกกรรมการอีก 8 คน โดยถือคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการบริหารที่ประชุม อนึ่งสมาชิกสามัญที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกตั้งต้องปรากฏตัวอยู่ในที่ประชุมใหญ่ด้วย
ข้อ 20. คณะกรรมการบริหารประชุมกันเองเพื่อเลือกตั้งนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 2 คน และให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ และอุปนายกจะหารือกัน แต่งตั้งกรรมการประจำตำแหน่งดังต่อไปนี้
ก. เลขาธิการ 1 คน
ข. เหรัญญิก 1 คน
ค. นายทะเบียน 1 คน
ง. ปฏิคม 1 คน
จ. บรรณารักษ์ 1 คน
ฉ. สาราณียกร 1 คน
ช. ประชาสัมพันธ์ 1 คน
ซ. กรรมการประจำตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร
ข้อ 21. กรรมการจะพ้นตำแหน่งต่อเมื่อไม่เข้าประชุมกรรมการ ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยไม่แจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการ ก่อนหรือในวันประชุม นอกจากคณะกรรมการบริหารจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น
ข้อ 22. คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และดำรงตำแหน่งได้สมัยละ 2 ปี
ข้อ 23. นายกสมาคมอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย
ข้อ 24. ถ้ากรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือก ขาดจำนวนก่อนถึงวาระ ให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ถัดลงไปจากคะแนนของผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการแทน ถ้ากรรมการที่คณะกรรมการบริหารเป็นผู้เลือกขาดจำนวนก่อนวาระให้คณะกรรมการบริหารเลือกสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทน
ข้อ 25. ในการประชุมคณะกรรมการ นายกฯเป็นประธานที่ประชุมโดยตำแหน่ง ถ้านายกไม่อยู่ ให้อุปนายกคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน และถ้าอุปนายกไม่อยู่ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการที่อาวุโสสูงสุดเป็นประธาน
ข้อ 26. ให้มีการประชุมคณะกรรมการตามปกติอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง กรรมการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปอาจมีหนังสือถึงนายกฯเสนอให้เปิดประชุมเป็นกรณีพิเศษเมื่อใดก็ได้และเลขาธิการจะต้องทำหนังสือเรียกประชุมกรรมการภายใน 7 วัน นับจากได้รับหนังสือบอกกล่าว กรรมการ 1 ใน 3 จึงจะเป็นองค์ประชุม

หมวด 6 การประชุมใหญ่

ข้อ 27. การประชุมใหญ่สามัญจัดให้มีขึ้นปีละครั้งในเดือนมกราคมเพื่อคณะกรรมการบริหารจะได้แถลงกิจการที่ได้ดำเนินมาในรอบปี และเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่และแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีเมื่อถึงวาระ
ข้อ 28. คณะกรรมการบริหารอาจมีมติให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ และสมาชิกไม่ต่ำกว่า 30 คน อาจขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อยื่นต่อนายกฯหรือเลขาธิการ และคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมตามที่ร้องขอภายใน 20 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือนั้น
ข้อ 29. ให้เลขาธิการแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่สามัญให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 30. การประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกมาร่วมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 30 คน จึงจะเป็นองค์ประชุมถ้าการประชุมครั้งแรกไม่ครบองค์ประชุมให้เลขาธิการนัดประชุมครั้งที่สองภายในเวลาห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ในการประชุมครั้งที่ 2 นี้ สมาชิกจะมาเท่าใดก็ได้ ถือเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ 31. ให้นายกเป็นประธานในการประชุมใหญ่สามัญ ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือสมาชิกอาวุโสเป็นประธาน
ข้อ 32. การลงมติของที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญที่มาประชุมด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะมีสิทธิออกเสียงได้โดยสมาชิก 1 นาย มีเสียง 1 เสียง มติที่ประชุมให้ถือตามเสียงข้างมาก เว้นไว้แต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้ามีเสียงเสมอกัน ให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด

หมวด 7 การเงินของสมาคม

ข้อ 33. นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของสมาคมได้ไม่เกินห้าพันบาท ถ้าเกินห้าพันบาทให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ
ข้อ 34. การจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมของสมาคมอย่างใดอย่างหนึ่งเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาทจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการที่มาประชุม
ข้อ 35. ให้เหรัญญิกมีเงินสำรองจ่ายไม่เกินสองพันบาท
ข้อ 36. การจ่ายเงินที่มีผู้บริจาคให้แก่สมาคมโดยระบุวัตถุประสงค์ในการใช้รวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขที่ผู้บริจาคกำหนดไว้
ข้อ 37. เงินนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ 35 ให้เหรัญญิกนำฝากไว้ในธนาคารหรือจัดหาดอกผล ทั้งนี้โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
ข้อ 38. การจ่ายเงินต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารโดยมีลายมือชื่อของนายกหรืออุปนายก 1 คน กับเลขาธิการหรือเหรัญญิก 1 คน เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายจึงจะจ่ายได้
ข้อ 39. ให้เหรัญญิกทำบัญชีแสดงฐานะการเงินประจำเดือนเสนอต่อคณะกรรมการ และให้ทำบัญชีรับจ่ายและงบดุลประจำปีของสมาคมเสนอต่อที่ประชุม
ข้อ 40. ให้ที่ประชุมใหญ่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี 1 คน เพื่อตรวจสอบบัญชีรับจ่ายและรับรองงบดุลประจำปีของสมาคม
ข้อ 41.ผู้สั่งจ่ายเงินจะต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม ในกรณีที่การจ่ายเงินดังกล่าวได้รับอนุมัติหรือมีมติของคณะกรรมการ กรรมการทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ยกเว้นกรรมการที่มิได้เข้าร่วมประชุมหรือที่ไม่เห็นชอบกับการจ่ายเงินนั้น

หมวด 8 ทรัพย์สินของสมาคม

ข้อ 42.ในกรณีที่สมาคมมีความจำเป็นจะต้องขาย ยกให้ แลกเปลี่ยน จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นกรรมสิทธิ์ของสมาคม คณะกรรมการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ของกรรมการที่มาประชุม แล้วจึงนำเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อขออนุมัติ เมื่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติด้วยคะแนนเสียงข้างมากแล้ว จึงจะดำเนินการต่อไปได้

หมวด 9 ความสัมพันธ์กับสมาชิก

ข้อ 43.สมาคมจะถือเอาภูมิลำเนาของสมาชิกที่ปรากฏตามทะเบียนเป็นสถานที่ทำการติดต่อระหว่างสมาชิกกับสมาคมเท่านั้น สมาชิกผู้ใดย้ายที่อยู่จะต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน
ข้อ 44. ถ้าสมาคมติดต่อกับสมาชิก ณ ภูมิลำเนาตามทะเบียนที่สมาชิกแจ้งไว้ไม่ได้ สมาคมจะต้องประกาศเหตุที่ต้องการติดต่อไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เมื่อครบกำหนดให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นทราบคำแจ้งของสมาคมโดยชอบแล้ว

หมวด 10 ข้อการแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ 45. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกข้อบังคับของสมาคมให้อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่

หมวด 11 การเลิกสมาคม

ข้อ 46. หากสมาคมนี้จะต้องเลิกด้วยเหตุใดก็ตาม ให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเป็นผู้ชี้ขาดว่าควรจะมอบหรือโอนทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นของนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณกุศลแห่งใด

ข้อ 47. ในการประชุมก่อตั้งสมาคม เมื่อที่ประชุมรับรองร่างข้อบังคับของคณะกรรมการร่างข้อบังคับแล้วให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชั่วคราวขึ้นชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการจัดตั้งสมาคมและรับสมัครสมาชิกชุดแรก
ข้อ 48. ให้นำข้อความที่เกี่ยวกับการรับสมาชิกในหมวด 3 ว่าด้วยสมาชิกภาพมาใช้โดยอนุโลม
ข้อ 49. ให้คณะกรรมการบริหารชั่วคราวพิจารณาสอบสวนคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับโดยเคร่งครัด
ข้อ 50. เมื่อคณะกรรมการบริหารชั่วคราวได้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมเรียบร้อยแล้ว ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อ
ก. รับรองสมาชิกชุดแรก
ข. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคม
ข้อ 51. เมื่อการจัดตั้งสมาคมเรียบร้อย และที่ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารตามข้อบังคับของสมาคมครบถ้วนแล้ว บทเฉพาะกาลนี้ไม่มีผลใช้บังคับ