พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน

พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน

นักเขียนชื่อเสาว์ บุญเสนอ

ถ้าไม่ใช่คนร่วมสมัย เมื่อพ.ศ. 2470 -2500 ยากนักที่จะรู้จักจดจำชื่อเสาว์ บุญเสนอได้  แต่คนร่วมสมัยในยุคนั้น  จะจำกันได้ว่า เสาว์ บุญเสนอเป็นนักเขียนคนสำคัญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475 มีผลงานนวนิยายที่ป๊อปปูล่ามาก “สายแดง”

เสาว์ บุญเสนอ เป็นคนเกิดที่ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือกรุงเก่า  เมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2452  ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เมื่อเล็ก บิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่เสาว์ อายุยังน้อย  จึงต้องมาอยู่กับหลวงลุงที่วัดราชาธิวาส เรียนหนังสือชั้นประถม ชั้นมัธยมต้นที่วัดราชาธิวาส และไปต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร รุ่นเดียวกับคนดัง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์  จนจบชั้นมัธยม 8

เสาว์ บุญเสนอ รักการเขียนตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม มีผลงานลงหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นแล้ว  เมื่อจบชั้นมัธยมปลาย  จึงได้เข้าทำงานหนังสือที่ หนังสือ สารานุกูล ของหลวงสารานุประพันธ์  ที่นี่เป็นครูของการเขียนหนังสือที่สำคัญ  ได้เขียนหนังสือและได้พิมพ์ออกมาเป็นเล่มแรกที่สารานุกูลแห่งนี้ รถจักร์ 333  เมื่อเข้าไปเป็นคนงานกรมรถไฟหลวง ต่อมาเกณฑ์ทหารได้ไปเป็นศิษย์การบิน ณ กรมอากาศยาน การบินทหารบก ที่นี่ เขาได้เขียน สายแดง อันเป็นเรื่องของความรักกับชีวิตของนักบิน  สร้างชื่อลือลั่น ลงหนังสือพิมพ์รายวัน เดลิเมล์ ของม.ล.ฉะอ้าน อิศรศักดิ์ ได้ค่าเขียนเรื่องวันละบาท ยุคนั้นล่ำซำมากๆ  ออกจากทหารได้มาทำงานหนังสือเป็นวิถีชีวิต ร่วมกับสามสหาย เหม เวชกร เวช กระตุฤกษ์  และเสาว์ บุญเสนอ ตั้งคณะเพลินจิตต์ พิมพ์หนังสือจำหน่าย  หนังสือดีราคาถูกเพียงเล่มละ 10 สตางค์ สร้างชื่อ ประสบความสำเร็จกับคณะเพลินจิตต์ จนเวลาหนึ่งก็เดินทางเป็นของตัวเอง   เสาว์ทำหนังสือพิมพ์ ประมวญวัน ประมาญสาร ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.)  ที่วังถนนประมวญ สาทร จนเกิดสงครามโลก  โรงพิมพ์วังถนนประมวลถูกระเบิด จึงจบชีวิตนักข่าวนักแปล ผู้ช่วยบรรณาธิการ  ประมวญสาร ประมวญวันแต่เพลานั้น

ก้าวสู่ประตูใหม่ สายการแปลบทหนัง สำหรับใช้ประกอบการฉายภาพยนตร์ให้คนชม เพราะหนังยุคนั้นยังเป็นหนังเงียบอยู่ จนกระทั่งมาถึงยุคหนังพากย์ หลังจากนั้นก็ว่างงานใช้ชีวิตบั้นปลาย  เสาว์ บุญเสนอ มีผลงานนวนิยายที่เป็นเล่มไม่น้อยกว่า 50 เรื่อง เรื่องที่คนชอบมากๆ คือสายแดง แต่เรื่องที่เสาว์ บุญเสนอ ชอบรักมากที่สุด คือ ชีวิตต่างด้าว

เสาว์  บุญเสนอ ป็นนักเขียนที่ประหยัด มัธยัสถ์ สมถะ ใช้ชีวิตเรียบง่าย พึ่งตนเอง เก็บเงินจากการเขียนหนังสือแปลบทภาพยนตร์ได้ ก็นำมาซื้อที่ดินไว้ปลูกบ้านได้ 1 ไร่เศษ ที่ซอยเทวรัตน์ บางซ่อน และที่นี่เองที่เป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิต เสาว์ บุญเสนอ และของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ก่อนลาจากฝากมรดกสำคัญ

        เสาว์ บุญเสนอ มีความสุขอยู่กับภรรยาที่รัก  ศรีสุดา วิคเตอร์ บุญเสนอ ณ บ้านหลังนี้จนกระทั่งจากกันไกล  “จะหานางใดในหล้า  เทียบเท่าศรีสุดาหามีไม่   เจ้าคือยอดชีวันขวัญใจ  จะขอรักอรทัยจนวายปราณ” บทกวีที่เสาว์   เขียนมอบให้คนที่รัก

เมื่อที่รักจากไกล ก็ใช้ชีวิตแบบเงียบเชียบเรียบง่าย เหมือนไม่มีตัวตนอยู่ในโลก จนกระทั่งมีคนรุ่นหลัง อาจิณ จันทรัมพร , สาโรจน์ มณีรัตน์ รู้ว่า เสาว์ บุญเสนอ ยังมีชีวิตอยู่  จึงได้ไปมาหาสู่กันและให้ความสำคัญแก่ เสาว์ บุญเสนอ   สุชาติ สวัสดิ์ศรี แห่งชุมนุมช่างวรรณกรรมยกย่องให้เกียรติ มอบรางวัลช่อการะเกดเกียรติยศ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มอบรางวัลนราธิปให้เป็นผู้รับรางวัลนราธิปชุดแรก ในปีพ.ศ. 2544 สิ่งที่ค้างคาใจเมื่อเสาว์ บุญเสนอ ได้อ่าน บทสัมภาษณ์ ของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คุณประภัสสร เสวิกุล ในหนังสือปากไก่
” สมาคมยังไม่มีสำนักงานถาวรเลย มันเป็นปัญหาประการหนึ่ง เงื่อนไขการดูแลรักษา แล้วมันจะคุ้มค่าไหม  ถ้าเราใช้เดือนละครั้ง หรือทำอย่างไรให้มันงอกเงย  มีประโยชน์ต่อเรา  ต้องดูต่อไป  เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน  เราอยากให้มี  แต่ปัญหาหนักทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจ้างสต๊าฟ   เรายังไม่คิดถึงขั้นนั้น  ยกเว้นแต่มีใครศรัทธา ยกบ้าน ยกตึกแถวร้างๆให้สักหลัง”

ความที่อ่านแล้วเก็บมาครุ่นคิดตลอด “ยกเว้นแต่มีใครศรัทธายกบ้าน ยกตึกแถวร้างๆให้สักหลัง”

เสาว์ บุญเสนอ ตัวคนเดียวไม่มีใครในชีวิต เมื่อจากไกลก็จะตกแก่ทายาทที่ห่างไกลเพราะเขาไม่มีลูก  เขานึกถึงเพื่อนแท้คนสำคัญ แท้ ประกาศวุฒิสาร นักสร้างภาพยนตร์ เพื่อนร่วมสมัยรุ่นน้องและ ประกาศ วัชราภรณ์ นักเขียนชีวิตนักประพันธ์ มาปรึกษาหารือและบอกว่าอยากจะยกบ้านพร้อมที่ดินให้แก่สมาคมนักเขียนไว้ใช้ประโยชน์แก่วงการนักเขียน ทั้งสามคนตกลงกันว่าสมควรยกให้และมีเงื่อนไขสองประการว่า  สมาคมต้องสร้างที่ทำการสมาคมให้เสร็จใน 5 ปี และต้องสร้างบ้านให้เขาอยู่ในลักษณะบ้านหลังเดิมแท้

ประกาศวุฒิสาร ประสานงานกับสมาคมนักเขียน นายกสมาคม ประภัสสร เสวิกุล

เสาว์  บุญเสนอ บอกนายกสมาคมว่า  “สมาคมจะพอรับบ้านและที่ดินของผมได้ไหม”

ในที่สุดก็ตกลงมอบและรับที่ดินบ้านหลังนี้ให้ไว้เป็นที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ในปลายปี 2544 สมดังเจตนารมณ์ของเสาว์ บุญเสนอ  เป็นบ้านและที่ดิน 93 ตารางวา  หลังจากที่ทำสิ่งที่หัวใจปรารถนาสำเร็จ เสาว์ บุญเสนอ ก็จากไกลไปเงียบๆเมื่อ วันพุธ 26 ธันวาคม 2544

จากยุคของนายกสมาคมฯประภัสสร เสวิกุล มาสู่ยุคของนายกสมาคมไมตรี ลิมปิชาติ ที่ทำการสมาคมได้สร้างสำเร็จ และเปิดที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 เดือนพฤศจิกายน 2549  หลังจาก เสาว์ บุญเสนอ จากไปได้ห้าปีพอดี  และตั้งชื่ออาคารหลังนี้เป็นเกียรติแก่นักเขียนที่ศรัทธาสร้างสรรค์สมาคมนักเขียนว่า อาคารเสาว์ ศรีสุดา บุญเสนอ

บ้านพิพิธภัณฑ์นักเขียน ส.บุญเสนอ

        บ้านหลังเก่าที่เสาว์ บุญเสนอ ใช้ชีวิตการเป็นนักเขียนตลอดมา ได้ปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีมั่นคงแข็งแรงใช้การได้  สมาคมนักเขียนตกลงให้จัดทำบ้านของเสาว์ บุญเสนอ เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ในยุคของนายกสมาคม ชมัยภร แสงกระจ่าง ได้รับมอบเงิน 1 ล้านจากคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต  มูลนิธิซีเมนต์ไทยให้กระเบื้องและไม้ฝา เขตบางซื่อมาช่วยทำสวนหย่อม ในที่สุดบ้านเสาว์ บุญเสนอ จึงเกิดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ นำเสนอเรื่องราวชีวิตและผลงานของเสาว์ บุญเสนอ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดเมื่อวาระครบ 100 ปีชาตกาลของเสาว์ บุญเสนอ  วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2552  ได้เรียนเชิญ พณฯท่านองคมนตรี กำธน สินธวานนท์ เป็นประธานในพิธีเปิดป้าย มีการเสวนาถึงความเป็นมาของบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดยสองนายกสมาคมนักเขียน คุณประภัสสร เสวิกุล และ คุณไมตรี ลิมปิชาติ มีคุณนิเวศน์  กันไทยราษฎร์ ดำเนินรายการ  นอกจากนั้นมีการรำลึกถึงเสาว์ บุญเสนอ โดยคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต นักเขียนผู้เป็นภรรยาของคุณวิลาศ มณีวัต

ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์บ้านหลังนี้

ในวาระ100 ปีชาตกาลและเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านเสาว์ บุญเสนอ คุณชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกองทุนสาว์ ศรีสุดาได้มอบเงินให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  มีการพิมพ์หนังสือสำคัญ สายแดง ของเสาว์ บุญเสนอ ให้กลับมาอ่านศึกษาในวาระนี้ และเสวนากันถึงนิยายสายแดง ของเสาว์ บุญเสนอโดย คุณสุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ คุณจตุพร บุญพรัด  คุณกนกวลี พจนปกรณ์ ดำเนินรายการ

อีกด้านของการทำหนังสือ  คุณชมัยภร แสงกระจ่างนายกสมาคมนักเขียนในตอนนั้น ได้เขียนสาระนิยายชีวประวัติ เสาว์  บุญเสนอลงในหนังสือสกุลไทย และจัดพิมพ์ “อยู่เพื่อใจดวงรัก” ออกมาในวาระสำคัญยิ่งนี้ด้วย มีการพูดถึงความเป็นมาของสาระนิยาย อยู่เพื่อใจดวงรัก โดยผู้เขียน คุณชมัยภร แสงกระจ่าง  คุณสาโรจน์ มณีรัตน์ ตัวละครผู้เปิดเรื่องสาระนิยายเรื่องนี้ มี คุณรักษ์ มนัญญา ดำเนินรายการ อ่านบทกวีรำลึกถึงชีวิตงานและความรักของเสาว์ บุญเสนอ โดยคุณญาดา อารัมภีร์ และกลุ่มกวีมีชีวิต คุณเสรี ทัศนศิลป์  เป็นการเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์อย่างมีความหมายและมีความสุขยิ่ง

 บ้านหลังนี้มีกำลังใจและไฟฝัน

        เพียงก้าวเข้ามาอยู่ในบ้านของเสาว์ บุญเสนอ หลังนี้ จะพบรอยอดีตที่ปรากฏให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของนักเขียนอมตะ เสาว์ บุญเสนอ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องมือสำคัญของนักเขียนในยุคสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนังสือที่ใช้ค้นคว้าประกอบการเขียนหนังสือและการแปล ห้องนอน ห้องรับแขก ที่จัดอยู่ในสภาพเดิมและของชิ้นเดิมทั้งต้นฉบับลายมือ ต้นฉบับพิมพ์ดีด ที่ยังดำรงอยู่ให้ศึกษา

ตู้หนังสือรวมผลงานของเสาว์ บุญเสนอ ที่รวมเล่มอยู่ในนามปากกาหลายปากกา ตั้งแต่ ส.บุญเสนอ ส.เนาว์สาย , บุญส่ง กุศลสนอง ,โสภา เสาวรักษ์ , ลี เชยสกุล , ดุสิต วาสุกรี  รวมถึงหน้าตาของหนังสือที่เสาว์ บุญเสนอเป็นบรรณาธิการให้กับคณะเพลินจิตต์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ประมวญวัน ประมวรสาร ให้ได้เห็นและเรียนรู้ กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ เป็นบ้านที่ใช้ชีวิตดำรงตนเป็นนักเขียนที่มีวินัยในการเขียนหนังสือ มีความสามารถเขียนได้หลากหลาย มีความสามารถในด้านภาษาต่างประเทศแม้จะเรียนเพียงม.8จากโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรก็ตาม

บ้านหลังนี้เป็นที่บอกเล่าเรื่องราวของนักเขียนที่สั่งสมประสบการณ์รอบด้านที่ชื่อ เสาว์ บุญเสนอ ผู้ตั้งชื่อให้หนังดังเจมส์บอนด์  พยัคฆ์ร้าย 007 เป็นบ้านของคนมีความรักเดียวใจเดียวเป็นที่ตั้ง  มีหัวใจเป็นกวี  มีความรักในการเขียนเป็นสรณะ  ดังบทกวีของเสาว์ บุญเสนอ                                    

” หากินทางหลายแพร่งแต่งหนังสือ                           ไม่เลื่องลือพอได้ไม่อายเขา
งานโรงพิมพ์โรงหนังหาใช่เบา                                  เคยเข้ากรำงานกาลก่อนก่อนมา
มีปณิธานขานคิดด้วยจิตมั่น                                      จะบากบั่นผดุงไว้ไทยภาษา
อยู่ในกรอบชอบด้วยธรรมจรรยา                               มีให้พาอักษรไทยใกล้แหล่งทราม”


พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส. บุญเสนอ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

เปิดให้บุคคลและหมู่คณะ 5 -15 คน เข้าชมได้ ทุกวันพุธที่สองของเดือน

โปรดติดต่อ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 31 ซอยกรุงเทพ- นนทบุรี 33 (ซอยเทวรัตน์) บางซื่อ กทม. 10800 โทรศัพท์ 0 – 2910 – 9565

ฉัตรชัย คุ้มอนุวงศ์ ผู้ประสานงาน