
แม่น้ำโขง
“หลานซาง” เชี่ยวเกลียวคลื่นตื่นไสว
มังกรไกรเพียรพ่นมนต์สวรรค์
“หนีห่าว” กราวเสนาะเลาะอรัญ
แต่ปางบรรพ์ “แม่ของ” ไหล “สะบายดี”
“มิงกาลาบา” ณ “แม่น้ำ โขง”
แม่หยัดโยงเชื่อมขวัญปันสุขศรี
เสกสร้อยรักถักสร้อยใจผืนไมตรี
แม่ปรานีถ้วนเหย้าทุกเผ่าชน
“สวัสดี” นัยงาม “แม่น้ำโขง”
ลอดอุโมงค์เล็งฟ้าลัดป่าฝน
ก่ออารยะประเพณีวิถีคน
แม้ขุ่นข้น-ขอดบ้างก็บางคราว
“จุมเรียบซัวร์” “ตวลเลเมกง”
เกื้อผุดองค์สถาปัตย์หยัดแยงหาว
อังกอร์วัดอังกอร์ธมพนมดาว
จรุงด้าวจรัสแดนบนแผ่นดิน
โอ้ “ซินจ่าว” เก้ามังกร “กู๋ลอง”
คือ “แม่ของ” แยกสาขาชลาสินธุ์
แล้วร่วมลานชเลกว้างทางชีวิน
พักกิจรินวางกิจไหลสายนที
แม่น้ำ โขงคือแม่เราทุกเผ่าผอง
การุณย์ล่องเลี้ยงหล้าชลาศรี
ธารโขงหลั่งดั่งนมแม่ แด่ธรณี
ณ วันนี้เราดูแล “แม่” อย่างไร
สัจภูมิ ละออ
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง
รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Award : MERLA) เป็นรางวัล ระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง จัดขึ้นโดยกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง
เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยความริเริ่มของสมาคมนักเขียนแห่งเวียดนาม มีสมาชิกแรกเริ่มประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคม นักเขียนชาติต่าง ๆ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และ กัมพูชา ต่อมาไดม้ปีระเทศเข้าร่วมอีก 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา จีน (ยูนนาน) และไทย เจ็ดปีให้หลังรางวัลนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพทางวรรณกรรมในภูมิภาค เป็นไปตามแนวทางของการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ และการหารือระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมของสมาคมนักเขียนทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงแล้ว
ปัจจุบันรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงได้ยกย่อง ให้เกียรติและส่งเสริมความรู้ ความสามารถของนักเขียนซึ่งแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำชาติ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหวา่งนักเขียนในภูมิภาค เพื่อมุ่งมั่นส่งเสริมสันติภาพ ความปรารถนาดี มิตรภาพ และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของภูมิภาคและของมนุษย์โลก โดยยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม
เป็นรางวัลสำหรับผลงานทางวรรณกรรมของประเทศสมาชิกที่คู่ควรได้รับการเชิดชู เพื่อให้สาธารณชนของประเทศสมาชิกได้เข้าใจวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของกันและกันมากขึ้น ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าภาพจะหมุนเวียนในประเทศสมาชิกประเทศละ 1 ปี ซึ่งประเทศไทย โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานในปี พ.ศ. 2560