” คิด-เขียน-ขาย สไตล์มืออาชีพ”(โรงเรียนนักเขียนรุ่นที่ ๕๒)

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ​ หัวข้อ ” คิด-เขียน-ขาย สไตล์มืออาชีพ” ระหว่างวันที่ ๕ – ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖  ภายใต้แนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนานักเขียนให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ ให้ทันต่อยุคสมัยในยุคแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างง่ายดาย และพฤติกรรมการอ่านของผู้คนที่เปลี่ยนจากกระดาษสู่จอสมาร์ทโฟน คือแรงกระเพื่อมที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงนักเขียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยนำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ย่อมมีผู้มาก่อน สมาคมฯ จึงได้เชิญนักเขียนคลื่นลูกใหม่ที่มีงานเขียนและได้รับรางวัลการันตีมาถ่ายทอด มุมมอง แง่คิดและประสบการณ์ ดังนี้

๑.ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ (เกิด ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙) เป็นนักเขียนชาวไทย ใช้นามปากกาว่า ปราปต์ มีผลงานด้านการเขียนนวนิยาย เช่น กาหลมหรทึก ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ยังได้นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่องวันยังมีผลงานประพันธ์เรื่อง นิราศมหรรณพเข้ารอบชอร์ตลิสต์การประกวดวรรณกรรมซีไรต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับความแตกต่างของมนุษย์ผ่านตัวละครที่ติดเอชไอวี เด็กหูหนวกแต่กำเนิดและโฮโมเซ็กซ์ชวล

“พลอตเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของนวนิยาย​ เป็นสิ่งที่ขับเร้าให้คนอ่านอยากติดตามเพื่อนำไปสู่บทสรุปหรือใจความสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารกับโลก​ แม้เป็นใจความที่ลำบากต่อการพูดแค่ไหน​ พลอตที่ดีก็จะช่วยผลักดันให้คนติดตามและเปิดใจรับฟังข้อความเหล่านั้นได้”

ปราบต์(ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์)

๒.นิพนธ์ เที่ยงธรรม เป็นนักเขียนชาวไทย โดยใช้นามปากกา จุฬามณี เฟื่องนคร และ ชอนตะวัน โดยผลงานที่มีชื่อเสียงที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็บบทโทรทัศน์ ทั้ง ชิงชัง ทาง ททบ.๕ และนวนิยายชุดสุดแค้นแสนรัก กรงกรรม ทุ่งวาสนา วาสนารัก และบุษบาตาคลี  ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ นำนวนิยายมาดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์จนสร้างชื่อเสียงให้กับนวนิยายและจังหวัดนครสวรรค์ที่เป็นสถานที่ดำเนินเรื่องกลับมามีชื่อเสียงและได้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อมาช่วยประชาสัมพันธ์

“กว่าจะมีวันนี้ ผมต้องใช้ความพยายามสูงสุด เปิดตัวเล่มแรกให้ได้ อย่างผมเปิดตัวด้วยชิงชัง ปราบต์ก็เปิดตัวด้วย กาหลมหรทึก คือเราต้องมีเรื่องเปิดตัว พอเรามี ๑ ,๒ ,๓ ไปเรื่อย ๆ แต่ที่สำคัญคือสู้กับตัวเองให้ได้ก่อน สู้กับความกลัว ความท้อที่จะอ่านหนังสือ…อายุมากน้อย ไม่ใช่อุปสรรค์ขอแค่เรามุ่งมั่น ตั้งใจทำให้ได้ เมื่อถึงวันนั้นก็จะเป็นวันของเรา”

จุฬามณี (นิพนธ์เที่ยงธรรม)

๓.กิตติศักดิ์ คงคา จบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ แต่หันมาทำงานเขียนจริงจังหลังจากเรียนจบมาได้ ๕ ปี โดยใช้นามปากกาทั้งหมด ๓ นามปากกา ได้แก่ กิตติศักดิ์ คงคา สำหรับงานเขียนทั่วไป นายพินต้า สำหรับงานเขียนนิยายแฟนตาซีและนิยายรักวัยรุ่น และลงทุนศาสตร์ สำหรับงานเขียนด้านการเงินและการลงทุน ผลงานการเขียนมีหลากหลายแนว ตั้งแต่นวนิยายรักวัยรุ่น เช่น เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น ใครคืออองชองเต  ไปจนถึงงานเชิงวิชาการสารคดี เช่น Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต และมนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ (รางวัลชมเชย จากการประกวดหนังสือดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเภทหนังสือสารคดี)

“การที่คุณเสียสละเวลาส่วนตัวเสียเงินเพื่อมาเรียนรู้แปลว่าคุณความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในศาสตร์แขนงนั้นๆสิ่งที่คุณได้คือสองสามวันที่กลับไปก็คือความสุดๆดังนั้นใช้เวลาทำผลงานออกมาให้ได้เมื่อไหร่ที่เรามีบทที่หนึ่งจากการที่รู้สึกว่าเราไม่ใช่นักเขียนเราจะเริ่มรู้สึกว่าเป็นนักเขียนและเขียนต่อไปไปให้ถึงให้ได้จุดจบของเรื่องให้ได้”

กิตติศักดิ์ คงคา
นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนฯ คนที่ ๒๑

ทั้งนี้ในวันเปิดโรงเรียนนักเขียนนางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนฯ คนที่ ๒๑ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรม รวมทั้งได้ให้อรรถาธิบายถึงงานเขียนไว้ว่างานเขียนคือวรรณกรรม และวรรณกรรมก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของวัฒนธรรม สมาคมนักเขียนฯ ได้เป็นหน่วยงานในการส่งเสริมและผลักดันงานวรรณกรรม ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของเราให้มีความก้าวหน้าและเป็นที่รับรู้ต่อไป โรงเรียนนักเขียน เป็นภารกิจสำคัญที่สมาคมนักเขียนฯผลักดันมาตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ และมีการพัฒนาปรับหลักสูตรให้เข้ากับแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะงานเขียนในยุคปัจจุบัน ที่มีลักษณะของปัจเจกชนนิยม ผู้เขียนมีความกล้าที่จะนำเสนอรูปแบบ เนื้อหา และกลวิธีการเขียน ที่ไม่ขึ้นอยู่กับขนบหรือหลักเกณฑ์ของการเขียน ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานในแนวของตนเอง บางครั้งก็เป็นการเปิดเผยตัวตนของผู้เขียนอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของทัศนคติที่มีต่อสังคม ความคิดเห็นของตนเอง ต่อเรื่องเพศ เรื่องศาสนา ความเชื่อ ค่านิยมแบบตะวันตก หรือมุมมืดของชีวิต

นักเขียนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญต่อความแปลก ใหม่ ความแรงของเรื่อง และกลวิธีการนำเสนอ มากกว่าเนื้อหา สาระ หรือวรรณศิลป์ ในขณะที่บางกลุ่มก็เขียนด้วยจินตนาการไปตามกระแสนิยม รวมทั้งตามกระแสของหนังสือและภาพยนตร์วัยรุ่นของเกาหลี (Korean Wave)

งานเขียนไทยในปัจจุบันอยู่ในระยะของการปรับเปลี่ยน ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์  และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โรงเรียนนักเขียนก็เช่นกัน  ก็ต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับสังคม ซึ่งก็เป็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับนักเขียนในการสร้างสรรค์ นำเสนอผลงานที่หลากหลายและไม่มีข้อจำกัด และสามารถนำผลงานไปขับเคลื่อนต่อไปได้ 

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

จากนั้นนางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ได้แนะนำนายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย กรรมการสมาคมนักเขียนฝ่ายวิชาการ ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ครูใหญ่ดูแลภารกิจสำคัญในโรงเรียนนักเขียน เพื่อสานต่อปณิธานของอดีตนายกสมาคมและกรรมบริหารสมาคมนักเขียนแห่งประเทศ ได้กล่าวว่า

“หลักสูตร ต่อยอดนวนิยาย : คิด – เขียน – ขาย สไตล์มืออาชีพ ไม่ได้มุ่งให้หลักการเขียนเบื้องต้น แต่เป็นความพยายามของสมาคมนักเขียนฯ ที่จะพัฒนานักเขียนให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ มีผลงานที่ได้รับการยอมรับ และมีความมั่นคงมากพอที่จะยึดการเขียนเป็นอาชีพได้ 

บรรยากาศภายในห้องเรียนที่เล็กกระทัดรัดแต่อัดแน่นไปด้วยความรู้ ประสบการณ์และแนวทางการนำเสนอผลงานที่เหล่าวิทยากรถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้าอบรมทั้งยังมอบหมายให้แต่ละคน ไปเขียนพล็อต เรื่องย่อนิยายเพื่อจะส่งผลงานและให้คำแนะนำ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมแต่ละคนก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ

เช้าวันถัดมาก่อนจะเริ่มแบ่งกลุ่มออกเป็น ๓ กลุ่มตามวิทยากรนางกนกวลี (พจนปกรณ์)กันไทยราษฎร์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนและนักเขียนนิยายได้มาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์การเขียน

กล่าวได้ว่าหนทางที่ก้าวไปสู่เส้นทางฝันนั้นต้องมีพลังความศรัทธา เรียนรู้ คิด สร้างสรรค์ และอดทน ในยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็เป็นนักเขียนได้ ทว่ามิได้หมายความว่านักอยากเขียนมากมายจะประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่จะเป็นแรงผลักดัน ให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางสายอักษร จำต้องมีมิตรไมตรีที่เอื้ออารีต่อกัน และนั่นคือความประทับใจหลังเสร็จสิ้นการอบรมในวันที่ ๒ 

“จัดอีกนะ…แล้วเจอกัน”คือเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรมก่อนแยกย้ายกันไป.

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *