เสน่ห์ของความคิด การสร้างสรรค์ ภาษา และฉันทลักษณ์ในกวีนิพนธ์ “ระหว่างทางกลับบ้าน”  

เสน่ห์ของความคิด การสร้างสรรค์ ภาษา และฉันทลักษณ์ในกวีนิพนธ์ “ระหว่างทางกลับบ้าน”  
ของ : อังคาร จันทาทิพย์

บทวิจารณ์รองชนะเลิศ รางวัลบทวิจารณ์ดีเด่นสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ
โดย ‘ณัฐฤทัย พลอยหิรัญ’

จากผลงานรวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า” ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2556 มาถึงผลงานกวีนิพนธ์เล่มล่าสุด “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร จันทาทิพย์ ในรูปแบบบทกวีฉันทลักษณ์จำนวน 45 ชิ้น กวีสามารถสร้างวรรณกรรมได้น่าประทับใจ จึงไม่แปลกที่หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลสำคัญ ๆ ถึงสองรางวัล คือรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหนังสือดีเด่นเซเว่นบุคอวอร์ดประจำปี พ.ศ. 2560 และรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่นของสพฐ.ประจำปี พ.ศ. 2561 

เรื่องราวต่าง ๆ ในกวีนิพนธ์ “ระหว่างทางกลับบ้าน” เมื่อมองในภาพรวม จะเห็นว่ากวีได้นำเรื่องใกล้ตัวคือ “บ้าน” มาเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับประเทศและระดับโลก เมื่อสำรวจเนื้อหาตั้งแต่หน้าสารบัญ ผู้วิจารณ์พบว่าบทกวีในเล่มนี้ไม่ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นภาคเหมือนเล่มอื่นๆ ทำให้ความรู้สึก เรื่องราว และประเด็นเชื่อมโยงกันทั้งเล่ม

ซีไรต์

บทกวีสื่อสารทางความคิดกับผู้อ่านด้วยภาษาและการสื่อความที่ชัดเจน มีท่วงทำนองคงเส้นคงวา สร้างประเด็นที่น่าสนใจให้ติดตามตั้งแต่ ความทรงจำ การโหยหาอดีต การประกอบสร้างความหมายของบ้าน บ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยตลอดจนสังคมโลก

“บ้าน” ใน “ระหว่างทางกลับบ้าน” จึงมีความหมายมากกว่าจะตีค่าว่าเป็นเพียงที่อยู่อาศัย หากแต่เป็นต้นทางความคิดที่จัดเรียงอย่างมีระบบ จากการสั่งสมประสบการณ์รอบตัว ผ่านระบบความคิด การตรวจสอบ การเลือกข้อมูล มุมมอง ลำดับภาพให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่มีการขยายตัวอย่างสูงและมีผลกระทบต่อชีวิตของปัจเจกบุคคล การเคลื่อนตัวของสังคม การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย 

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในภาวะการณ์ของโลก เช่น บทกวี ‘เพื่อนบ้าน’ สะท้อนเรื่องราวของป่ามาเป็นหมู่บ้านที่ต้องค่อย ๆ ผ่อนซื้อ บทกวี ‘รั้วบ้าน’ สะท้อนกำแพงสร้างแทนต้นไม้ บทกวี ‘แสง-เงาเหนือหลังคาบ้านพักคนชรา’ สะท้อนการใช้ชีวิตของผู้เป็นแม่ยามชราอย่างน่าสะเทือนใจ บทกวี ‘บ้านเรือนชาวซีเรีย (แขนและขาทั้งสองของประวัติศาสตร์)’ สะท้อนโศกนาฏกรรมอุบัติซ้ำอย่างปวดร้าว ฯลฯ ก่อให้เกิดพลังความคิดออกมาอย่างชัดเจน และทรงพลัง “บ้าน” จึงเป็นภาพแทนจากภาพเล็กไปสู่ภาพใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ ความภาคภูมิใจ ความศรัทธา และตัวแทนแห่งความหวัง เป็นพลังผลักดันให้ผู้อ่านฉุกคิดการหาคำตอบด้วยตนเอง

การสร้างสรรค์ในบทกวี “ระหว่างทางกลับบ้าน” ใช้ประเด็นของ “บ้าน” เป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่อง คำว่า “บ้าน” จึงเป็นคำสำคัญในบทกวีแทบทุกบท เอื้อให้ผู้เขียนสามารถประกอบสร้างความหมายของบ้านได้หลากหลายมิติและความหมาย ทั้งยังสร้างความเป็นเอกภาพแก่เนื้อเรื่องโดยรวม แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ ทั้งด้านเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอ และวิธีการเล่าเรื่องที่แสดงถึงความตั้งใจและพิถีพิถัน โดยเฉพาะในด้านการสร้างเนื้อเรื่อง อาจกล่าวได้ว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งในกลวิธีการเล่าเรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” ก็คือการสอดแทรกนิทานพื้นบ้าน ความเชื่อ มีการพล็อตเรื่องเสมือนภาพยนตร์ ให้มีฉาก มีตัวละคร มีบรรยากาศ มีคำพูดของตัวละคร ดังเช่น บทกวี ‘เมื่อรุ้งลงกินน้ำ’ ที่นำเรื่องเล่าและความเชื่อเรื่องรุ้งกินน้ำมาผสมผสาน สอดร้อยกับเนื้อหาบทกวีอย่างกลมกลืนสื่อความหมายได้อย่างลงตัวแสดงให้เห็นวิธีคิดและวิธี “ผูก” เรื่องได้ชัดเจน

ลูกเอ๋ย…ทุ่งไม่ใช่ทุกอย่าง 
โลกยังมีที่ทางกว้างกว่าทุ่ง 
กว้างกว่าโค้งฟ้าครอบ โค้งขอบรุ้ง 
นานมาแล้ว พ่อเคยมุ่ง เคยหมายไป…

ลูกเอ๋ย ปู่ของเจ้าเล่าให้ฟัง 
โอ้ เรื่องเล่าแต่เก่าหลัง ฟังเหลวไหล
ตอนนั้นพ่อก็เช่นเจ้า ยังเยาว์วัย 
แต่หัวใจทุกห้องรุ้งรองเรือง

เรืองกว่ารุ้ง “เมื่อรุ้งลงกินน้ำ…”
ยังทอดลำแสงทอมาต่อเนื่อง
ต่อนานแต่นั้นฝันเนืองเนือง 
ฝันคะนึงถึงฟ้าเบื้องโพ้นเรื่องราว…

ที่โคนรุ้ง “เมื่อรุ้งลงตักน้ำ…
ด้วยขันเงิน ขันทองคำ…” ปู่ย้ำกล่าว
“เกิดเป็นแสงพวยพุ่งสายรุ้งพราว 
เหนือทุ่งข้าว เหนือทุ่งป่าบุ่งทาม…”

ตอนนั้นพ่อก็เช่นเจ้ายังเยาว์วัย 
หมายใจไว้ว่าจะฝ่าข้าม
ใกล้ตา ไกลตีนปีนป่ายตาม 
คอยห้วงยามออกเดินทางอย่างอดทน

ที่สุดพ่อก็ไปไม่เคยถึง 
ยังดื้อดึง เดินทางไกลอีกหลายหน
แต่เมื่อละสายตาฟ้าเบื้องบน 
พ่อพบรุ้งเติบตัวตนจากโคลนตม!

ไปไม่ถึง ไม่ใช่พ่อไม่เชื่อ 
อาจบางเมื่อ เจ้าสู้สร้างทางเหมาะสม
รุ้งทิ้งขันเงินคำไว้ให้เจ้าชม 
หลังฟ้าพรมพรายแดดปรนสายฝนปรุง

ลูกเอ๋ย… ทุ่งไม่ใช่ทุกอย่าง 
โลกยังมีที่ทางกว้างกว่าทุ่ง
กว้างกว่าโค้งฟ้าครอบ โค้งขอบรุ้ง 
ลูกเอ๋ย เจ้าจงมุ่ง จงหมายไป…

(เมื่อรุ้งลงกินน้ำ น.30)

การสร้างเรื่องแบบการผูกเรื่อง ทำให้บทกวีมีเสน่ห์ มีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ก็อาจมีข้อเสียทำให้บทกวีบางชิ้นเน้นหนักไปในด้านการคิดเชิงเหตุผลมากกว่าเกิดจากความรู้สึกข้างใน จึงขาดการพวยพุ่งทางอารมณ์อยู่บ้าง กวีดำเนินเรื่องราวทั้งหมดผ่านภาษาธรรมดาตามยุคสมัย เข้าใจง่าย ง่ายต่อการเข้าถึง สามารถควบคุมคำ โดยให้ทุกคำทำหน้าที่ ทุกคำในบทกวีจึงรับ-ส่งกันอย่างกลมกลืนและมีศิลปะ

 ผู้วิจารณ์สังเกตเห็นว่ามีการกรองชุดคำมาทำหน้าที่เป็นความเปรียบ ทั้งในเชิงอุปมา อุปลักษณ์ ดังเช่นในบท “ลูกดิ่ง” กวีเลือกใช้ชุดคำของเครื่องมือก่อสร้างมาเรียงร้อยได้อย่างโดดเด่น น่าสนใจ อาทิคำว่า ระดับน้ำ, ลูกดิ่ง, เกรียง, อ่างผสมปูน, เหล็กฉาก, สว่านและดอกสว่าน, ค้อนและเลื่อย, ตลับเมตร,กบไสไม้, ปากกาและกระดาษ 

‘ลูกดิ่ง’

จะชักหน้า เชือกก็ตึง ไม่ถึงหลัง
เบื้องลึกหยั่งก้นบึ้งใจ ร้างไออุ่น
ร้าง ไม่ร้าง แรกรัก เคยผลักรุน
ต้นทุน จำทน คือต้นทาง

ข้างหนึ่งปม ปลายเชือกผูกก่อนถูกทิ้ง
เหมือน ‘ลูกดิ่ง’ จ่องดึง ขึงอีกข้าง
ตรึงล่ามความคิด ภาพติดค้าง
ฉากพื้นโลก เธอดิ่งร่าง ดับกลางลาน

ดิ่งลงหุบหดหู่ ดิ่งสู่เหว
วัดล้มเหลว เลว ดี สักกี่ด่าน
รอยเชือกบาดหัวใจไปเท่านาน
มือสากกร้าน ประคับประคอง ทั้งสองมือ

(คนสร้างบ้าน, หน้า 36-43)

หรือ การนำชุดคำเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของบ้านเข้ามาใช้ในบทกวีที่ชื่อว่า 
บ้านของเรา (อยู่ในสังคมออนไลน์)

เหล็ก ปูน ไม้ กอดเกี่ยว หลังเดียวกัน
ยึดที่มั่น แต่ละมุมเปล่งสุ้มเสียง
ห้องรับแขก ห้องครัว รั้ว ระเบียง
ต่างทุ่มเถียง ใครมีค่ามากกว่าใคร

“ร่มเย็นเพราะข้า หลังคาบ้าน…”
“แต่ด้วยคาน ข้ายึดโยงโครงสร้างใหญ่…”
“ด้วยเสาหลัก จึงยืนยง จงเข้าใจ…”
“ผนังโอบทุกอย่างไว้ จงใคร่ครวญ”
(บ้านของเรา (อยู่ในสังคมออนไลน์) น.51)

การนำชุดคำเหล่านี้มาประกอบสร้างบทกวี ทำให้เกิดการสนับสนุนมุมมองการเล่าเรื่องอย่างแจ่มชัด มีความชัดเจนในการสื่อสาร ภาษาที่ใช้เสมือนหาข้อมูล ตรวจสอบและคัดสรรมาอย่างดี ทำให้งานหลายชิ้นมีความหนักแน่น โดดเด่น และมีเสน่ห์ในด้านเนื้อหามากกว่าศิลปะแห่งกวี อย่างไรก็ตามข้อเด่นด้านนี้ทำให้เกิดความพร่องในบทกวีบางชิ้นเช่น บทกวีจักรวาลซ่อนอยู่ในไข่หนึ่งฟอง นอกกำแพงเรือนจำ บ้านของฉัน พบว่าเกิดการไหลลากตามเนื้อหาเพื่อนำไปสู่ตอนจบ

“ระหว่างทางกลับบ้าน” เป็นบทกวีประเภทฉันทลักษณ์ โดยเลือกใช้กลอนแปดยืนพื้น แต่กลอนของอังคารมักมีจังหวะตายตัว แบบ 3 2 3 มีบ้างที่เป็น 3 3 3, 2 2 3 หรือ 4 2 4 มีดังเช่น

หากไม่ฝังชีวิตดับกับแผ่นดิน
ไม่สุดสิ้นดิ้นรน คนร่อนเร่
‘ประเทศที่สาม–โลกหน้า’ คะนึงคะเน
พัดเพ โลกนี้ ผู้ลี้ภัย

(บ้านหลังสุดท้าย สุดปลายแผ่นดิน (ครุ่นคำนึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา) น.93)

อาจกล่าวได้ว่า อังคาร จันทาทิพย์เป็นกวีรุ่นใหม่ที่มีความแม่นยำในการเขียนฉันทลักษณ์เป็นอย่างมาก ลงเสียงท้ายวรรคถูกต้อง บทกวีส่วนใหญ่รับ-ส่งสัมผัส จากคำสุดท้ายของวรรคสดับ (วรรคที่ 1) ไปยังคำที่ 3 ของวรรครับ (วรรคที่ 2) ข้อเด่นข้อนี้อาจทำให้อิสระในการใช้คำน้อยลง หากเทียบกับการเลือกลงในคำที่ 5 ของวรรรครับ 

ในด้านการเล่นสัมผัสนั้นทำได้ดีทั้งในแง่ของสัมผัสสระและสัมผัสอักษร สัมผัสสระแต่ละวรรคจะพบมากใน คำที่ 5 สัมผัสกับคำที่ 7 หรือคำที่ 5 สัมผัสกับคำที่ 6 การเล่นสัมผัสอักษรในแต่ละวรรคเหมือนของสุนทรภู่ หรือ กวีอีกหลายท่าน แต่ไม่ค่อยพบกลวิธีการเล่นสัมผัสวรรณยุกต์

มีหลายบทเมื่อกวีใช้กลวิธีการสัมผัสอักษรในชิ้นงาน เกิดการ “ขับคำ” ส่งให้ความในบทกวีเด่นคมขึ้น ล้วงอารมณ์ผู้อ่านให้สะเทือนใจตามได้มาก โดยเฉพาะบทกวี 
‘บ้านซึ่งความเศร้าเข้ายึดครอง’ กวีเล่นคำ เล่นเสียงและจังหวะได้ดีมาก

อยู่อย่างไร ใจและร่าง อยู่อย่างไร 
บ้านที่ใครไม่นับญาติ หรืออาจอยู่
ลูก สามี เลือดหลั่งลงพรั่งพรู 
ความหดหู่ ความเศร้าเป็นเสาเรือน

เรือนที่ทุกข์และสุขได้ปลูกสร้าง 
กระสุนพร่าง ระเบิดพร้อย ร่องรอยเกลื่อน
รอยประหัตประหาร สะท้านสะเทือน 
คราบคาวเลือดเปรอะเปื้อน ไม่เลือน

รอย…
รอยแผลลึก ร้าวราน ค่ำวานนี้! 
ลบหลายปีชีวิตลับลงยับย่อย
เรือนปลูกก่อนหลายปีมีลูกน้อย 
ทุกอย่างทยอยลงย่อยยับ

ย่อยยับ ไม่นับญาติ หวั่นหวาดยิ่ง 
ความจริงล้อมรุมสู่มุมอับ
อีกครา วงแขนอันแค้นคับ 
กระชับวงแขนแน่นอีกครั้ง

(บ้านซึ่งความเศร้าเข้ายึดครอง น.98)
นอกจากนี้แล้ว ศิลปะของการเลือกสรรใช้คำ ความเปรียบ อุปมา อุปลักษณ์ การเล่นคำ เล่นความหมาย ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาพย่อยของบ้านแต่ละหลัง ของคนแต่ละคนให้เกี่ยวร้อยกันโดยนัยแห่งกวี 
ดังเช่น

ธรรมดาสามัญ…
แม่ครับ ไม่คาดฝัน ดึกนั้นหนาว
หนาวฟ้า มีนาคม ห่มดวงดาว
เหน็บหน่วงร้าว เกินอุ่นอิง อกผิงไฟ
(แม่ไม่อยู่บ้าน น. 25)

กวีชี้ให้เห็นความหนาวอันเกิดจากการสูญเสีย ฤดูร้อนจึงกลายเป็นความเหน็บหนาวดังในฤดูหนาว นอกจากนี้แล้วในบางบทยังแสดงฝีมือในการเล่นคำ เล่นความได้อย่างกลมกลืน ดังเช่น

ค่อยค่อยงอก ค่อยค่อยเงย ค่อยค่อยเงียบ
ค่อยค่อยเลียบ ค่อยค่อยเคย ค่อยเลยผ่าน
ดาวน์ดอกเหงื่อ ค่อยค่อยเบ่ง ค่อยค่อยบาน
ค่อยค่อยสาน ฝันใหม่ ใกล้เข้ามา…
(เพื่อนบ้าน น.46)

กวีใช้การเล่นคำ ย้ำความ อย่างมีจังหวะให้รู้สึกถึงคำว่า ‘ค่อย’ ในบางสิ่งที่ผุดโผล่ขึ้นทางสังคม การเล่น “คำ” ที่ขับเน้น “ความ” ในบทประพันธ์ให้เด่นชัดเช่นนี้ ยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายตอน แม้ว่า “ระหว่างทางกลับบ้าน” จะมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหามาก แต่ความโดดเด่นด้านศิลปะทางภาษาก็ไม่ได้ด้อยกว่าเนื้อหาแม้แต่น้อย 

ผู้วิจารณ์เห็นว่าเสน่ห์ที่ทำได้ยากและเป็นสิ่งที่กวีร่วมสมัยขาดไม่ได้คือการสะท้อนมุมมองอย่างมีศิลปะ ไม่ได้นำเสนอออกมา ทื่อ ๆ ตรง ๆ หรือเขียนทางออกให้กับผู้อ่านตรง ๆ จะต้องทำให้ผู้อ่านแลเห็นทางออกได้เอง หรือใช้บทกวีเป็นอาวุธอันคมกล้าที่ช่วยผลักดันโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดชะงัก หรือได้ช่วยพิทักษ์มิให้ใครได้ยื้อยุดฉุดกลับหลัง 

ดังที่ “ศรีอินทรายุทธ” เคยกล่าวไว้ในหนังสือศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ในประเด็นนี้กล่าวได้ว่า อังคาร จันทาทิพย์ ก็สามารถสร้างสรรค์ให้เห็นผู้วิจารณ์เห็นว่าเขาทำได้อย่างมีเสน่ห์ทางความคิด การสร้างสรรค์ ภาษา และฉันทลักษณ์ ด้วยการสื่อสารชัดเจน มีความโดดเด่นงดงามสมกับเป็นกวีร่วมสมัยที่เคยได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2556

“ระหว่างทางกลับบ้าน” นับว่าเป็นก้าวย่างใหม่ที่สง่างาม น่าจับตามองของ อังคาร จันทาทิพย์ จึงนับเป็นกวีนิพนธ์ที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง.

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *